
เลี่ยงไตวาย ด้วยการใช้ยาอย่างสมเหตุผล
ในปัจจุบันผู้ป่วยเป็นโรคไตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี หนึ่งในสาเหตุการเกิดโรค คือ ปัญหาการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผล โดยกลุ่มยาที่อาจส่งผลต่อไต หากใช้พร่ำเพรื่อ เช่น
– กลุ่มยาเอ็นเสด (ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์) เมื่อใช้ขนาดสูง หรือนานกว่า 14 วัน เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) , ไดโคลฟีแนค (diclofenac) , ไพร๊อกซิแคม (piroxicam)
– ยาต้านจุลชีพบางชนิด (เมื่อใช้ขนาดสูงและไม่ได้ปรับขนาดยาตามการทำงานของไต) เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) , โคไตรม๊อกซาโชล (co-trimoxazole)
– ยาชุดผิดกฎหมายที่มักมียาที่เป็นพิษต่อไตอย่างสเตียรอยด์หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์รวมอยู่
– ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ซึ่งมักลักลอบใส่สารที่อันตรายยาไม่เหมาะสม สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายต่อไต
นอกจากยาดังกล่าวข้างต้นแล้วยังมีผลิตภัณฑ์ที่แอบอ้างสรรพคุณว่าบำรุงไตหรือล้างไต ซึ่งไม่สามารถโฆษณาสรรพคุณนี้ได้ถือว่าผิดกฎหมาย ผลิตภัณฑ์เหล่านี้แม้จะไม่ได้เป็นพิษต่อไตโดยตรง แต่อาจสร้างปัญหาได้ เพราะจะทำให้ผู้ป่วยละเลยการดูแลไต จนโรคลุกลามได้
ส่วนการสังเกตอาการโรคไตนั้น วิธีที่ได้ผลชัดเจนที่สุดคือการเจาะเลือดตรวจ แต่เราสามารถสังเกตอาการสัญญาณเตือนโรคไตได้ ดังนี้ เหนื่อยง่าย บวม ปวดสีข้างด้านหลัง ปัสสาวะน้อยมากหรือปัสสาวะมีฟอง แต่เพื่อให้มั่นใจควรทำการเจาะเลือด เพื่อตรวจการทำงานของไต
การป้องกันการเกิดโรคไตจากการใช้ยา
1. หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะยาแก้ปวดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
2. หลีกเลี่ยงการใช้ยาเอง แนะนำปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
3. ไม่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ยา อาหารเสริมหรือยาจากสมุนไพรที่ผิดกฎหมายไม่ได้ขึ้นทะเบียน โอ้อวดสรรพคุณ รวมถึงยาชุด
การใช้ยาควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด กรณีศึกษาความรู้ด้วยตนเองแล้วหาซื้อยามากินเองอาจจะเกิดผลเสียต่อร่างกายได้

