ยา,  เตือนภัยผู้บริโภค

ยาฆ่าเชื้อผสมสเตียรอยด์ ควรใช้เมื่อไหร่

ยาฆ่าเชื้อผสมสเตียรอยด์ เป็นยาใช้ภายนอก/ยาใช้เฉพาะที่ถูกสั่งจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกรและมีการใช้อย่างจำกัด เนื่องจากมีส่วนประกอบของยาสเตียรอยด์และตัวยาฆ่าเชื้อ 1 ชนิดขึ้นไปตามวัตถุประสงค์ของการรักษา ซึ่งอาจได้ผลกับบางอาการและตอบสนองกับผู้ป่วยบางรายเท่านั้น ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจก่อนว่ายาฆ่าเชื้อกับยาสเตียรอยด์มีคุณสมบัติอย่างไร นำมาใช้ผสมกันเพื่อช่วยเรื่องใดบ้าง

“ยาต้านจุลชีพ”หรือที่มักเรียกกันว่า “ยาฆ่าเชื้อ” ออกฤทธิ์ฆ่าหรือหยุดการเจริญของเชื้อก่อโรค มีการนำมาใช้ในยาสูตรผสมมีหลายกลุ่ม ทั้งยาต้านแบคทีเรีย เช่น เจนตามิซิน (Gentamicin), โพลีมิกซินบี (Polymyxin B) ยาต้านเชื้อรา เช่น โคลไทรมาโซล (Clotrimazole), นิสแททิน (Nystatin) ยาต้านไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ตลอดจนยาที่มีฤทธิ์ต่อจุลชีพชนิดอื่น ๆ       

 สำหรับ “ยาสเตียรอยด์” มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ (ลดอาการปวด ร้อน บวม แดง) และฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน เนื่องจากยาสเตียรอยด์มีหลายสูตรโครงสร้าง ทำให้แต่ละชนิดมีคุณสมบัติและความเข้มข้นที่แตกต่างกัน ยาสเตียรอยด์ที่นำมาผลิตเป็นยาสูตรผสมร่วมกับยาฆ่าเชื้อ เช่น ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone), เบตาเมทาโซน (Betamethasone), เดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) เป็นต้น

 ยาฆ่าเชื้อผสมสเตียรอยด์ สำหรับใช้ทาภายนอก หรือยาใช้เฉพาะที่ มีทั้งรูปแบบขี้ผึ้ง ครีม เจล ยาน้ำใส และยาน้ำแขวนตะกอน ถูกนำมาใช้รักษาโรคหลายอย่างที่ตอบสนองดีต่อยาสเตียรอยด์และเกิดการอักเสบติดเชื้อร่วมด้วย ได้แก่ 

           1. โรคทางระบบผิวหนัง เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคผิวหนังอักเสบออกผื่น โรคสะเก็ดเงิน

 โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา 

           2. โรคเกี่ยวกับดวงตา เช่น ใช้ลดปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่ตา ลดการอักเสบหลังการผ่าตัดตา โรคเยื่อบุตาอักเสบ 

           3. โรคเกี่ยวกับหู เช่น รักษาหูชั้นกลางอักเสบ รักษาหูชั้นนอกอักเสบเรื้อรังจากการสัมผัส

เนื่องจากยาสเตียรอยด์มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและกดภูมิคุ้มกัน จึงใช้รักษาโรคผิวหนังหรืออาการเจ็บป่วยเฉพาะที่ เช่น แผลเริมที่ปาก เพื่อช่วยลดอาการอักเสบ ระคาย และคัน ตรงบริเวณที่ได้รับยาได้ดี และพบว่าการใช้ยาสูตรผสมที่มีสเตียรอยด์ผสมกับยาฆ่าเชื้อช่วยลดความรุนแรงของโรคหรืออาการข้างต้นได้

โดยทั่วไปยาสูตรผสมไม่ควรใช้นานเกิน 7 หรือ 10 วัน การใช้เป็นเวลานานจะเสี่ยงต่อการเกิดผลไม่พึงประสงค์มากขึ้น ดังนี้

          1. ยาที่มีสเตียรอยด์ ไม่ว่าจะเป็นยาเดี่ยวหรือยาสูตรผสม หากใช้ตัวยาและความแรงไม่เหมาะสมกับอาการของโรค อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อแทรกซ้อนรุนแรง รวมถึงผลข้างเคียงบริเวณที่ใช้ยา เช่น ผิวหนังบริเวณที่ทายาบางลง ผิวแดง/ด่าง มีริ้วลาย

          2. หากใช้สูตรยาไม่ตรงกับเชื้อก่อโรค อาจทำให้ไม่ตอบสนองต่อการรักษา เกิดเชื้อดื้อยา และยากต่อการดูแลเมื่อมีการติดเชื้อเรื้อรังหรือเกิดภาวะแทรกซ้อน อีกทั้งเสี่ยงได้รับผลข้างเคียงจากยาต้านจุลชีพ โดยเฉพาะหากยาสูตรผสมนั้นมียาต้านจุลชีพมากกว่า 1 ชนิดขึ้นไป

 ดังนั้นควรใช้ยาสูตรผสมในระยะเวลาสั้น ๆ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาชนิดที่มีความแรงสูงเป็นเวลานานและทาเป็นบริเวณกว้าง ควรใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์และเภสัชกร ไม่ควรหาซื้อยามาใช้เอง เนื่องจากยังไม่มีการศึกษายืนยันว่าการใช้ยาสูตรผสมมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้ยาเดี่ยวอย่างชัดเจน และแพทย์จะสั่งใช้เมื่อพิจารณาแล้วว่ามีประโยชน์ในการรักษามากกว่าผลข้างเคียงเท่านั้น 

ข้อมูลอ้างอิง 

สเตียรอยด์ผสมยาฆ่าเชื้อ ใช้ในกรณีใด | โดยคณะเภสัชฯ ม.มหิดล (mahidol.ac.th)

ยาผสมสเตียรอยด์ เลือกใช้ให้ถูกกับโรค – สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) (thaihealth.or.th)

https://www.rama.mahidol.ac.th/rama_hospital/th/services/knowledge/01032020-1102

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม โทร 034-716888 หรือผ่าน line OA: kbs75000

ยาฆ่าเชื้อผสมสเตียรอยด์

ทิ้งคำตอบไว้